การจัดการไฟล์ และ รูปภาพใน WordPress เราสามารถจัดการได้ใน Media Manager ครับ แต่ก่อนอื่น เรามาลองใส่ รูปภาพ และ ลิงค์ไฟล์กันดูก่อนครับ
วิธีการใส่รูปภาพ
เมื่อเราอยู่ที่ หน้า หรือ บทความ นะครับ ให้เราคลิกไปที่ Add Media หรือ เพิ่มสื่อครับ เมื่อเราทำการกด เพิ่มสื่อแล้ว ก็จะมีหน้าต่างโผล่มาครับ ทางด้านซ้ายมือ จะมีลิงค์ที่สามารถกดได้ครับ แต่ละลิงค์ก็จะมีหน้าที่ดังต่อไปนี้ครับ
1. Insert Media ใช้สำหรับใส่รูปภาพลงไปในบทความครับ
2. Create Gallery ใช้สำหรับ สร้าง WordPress Gallery แบบง่ายๆครับ สามารถใส่รูปภาพลงไปพร้อมกัน หลายๆรูปได้เลยครับ
3. Featured Image ใช้สำหรับ ตั้งค่า รูปภาพประจำ หน้า หรือ บทความครับ เวลาเอาบทความเราไปโพสที่ไหนก็จะเห็นรูปภาพนี้
4. Insert Form URL ใช้สำหรับใส่รูปที่ไม่ได้อยู่ในเว็บไซต์เราโดยตรงครับ ซึ่งก็คือ เป็นการทำลิงค์มาจากเว็บอื่นนั่นเอง
ส่วนตรงกลางจะมี แท็บ Upload และ Media Labrary ครับ ซึ่งที่ แท็บ Upload เราก็สามารถ Upload รูปที่นี่ได้เลย เมื่อ Upload แล้ว รูปที่เรา Upload ไปก็จะมาอยู่ใน Media Library ครับ
เมื่อรูปมาอยู่ที่ Media Library เรียบร้อยแล้ว เราก็สามารถเลือกรูปที่จะใส่ได้เลย เมื่อเลือกรูปแล้ว Column ทางด้านขวาสุด จะปรากฎข้อมูลให้เราดูครับว่า รูปที่เราใส่ชื่ออะไร มีขนาดเท่าไร นอกจากนั้น เรายังสามารถแก้ไขรูปภาพเบื้องต้น จากที่นี่ได้อีกด้วยครับ หากไม่พอใจรูปภาพนี้ ก็สามารถลบได้เช่นกันครับ
สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเช่น
– Title ข้อมูลนี้จะมีผลให้ Search Engine หารูปภาพนี้เจอนะครับ
– Caption ก็คือ คำอธิบายใต้ภาพนั่นเอง
– Alt Text คือ ตัวหนังสือที่ขึ้นมา ขณะที่รูปภาพยังโหลดไม่เสร็จ
– Description คือ คำอธิบายเพิ่มเติมของภาพ จะไม่เห็นบนหน้าจอ แต่ข้อมูลนี้ ก็จะส่งผลให้ Search Engine หาเว็บเราเจอเช่นกัน
ถ้าเป็นไปได้ ให้ใส่ข้อมูลให้ครบเลย จะดีที่สุดครับ เพราะข้อมูลเหล่านี้ จะทำให้ Search Engine รู้จักเว็บของเราได้ดีขึ้นนะครับ ถ้าขี้เกียจทำ ก็คิดซะว่า ทำครั้งเดียว แต่คุ้มครับ ได้ผลนานทีเดียว
ที่กล่องล่างสุด
– Alignment เราสามารถ ตั้งค่าได้ว่า เราจะให้รูปภาพของเราอยู่ซ้ายขวา หรือว่ากลางครับ
– Link to เราสามารถกำหนดได้ว่า รูปภาพที่เราใส่จะให้ Link ไปไหน โดยมีให้เลือกอีกสี่อย่างคือ
— None ไม่ต้องลิงค์
— Media File ลิงค์มาที่ไฟล์โดยตรง
— Attachment Page ลิงค์ไปที่หน้าไฟล์แนบบน WordPress
— Custom URL ลิงค์ไปที่อื่น ที่ไหนก็ได้แล้วแต่เรา
– Size เราสามารถกำหนดขนาดของ รูปภาพที่เราใส่ลงไปได้ด้วย ครับ ขนาดจะเป็นไปตามตัวเลขที่เห็นเลยครับ
ก่อนที่จะกด ใส่รูปภาพ ที่ด้านล่างของรูปภาพ จะมีเขียนอยู่ด้วยครับว่า เราเลือกกี่รูป ถ้าไม่เอา เราก็สามารถกด Clear ได้ครับ แต่ถ้าเอา ก็กด Insert into page หรือ Insert into post ได้เลยครับ
เมื่อเรา ใส่รูปเข้ามาแล้ว เราก็จะเห็นรูปอยู่ที่ ตัวเขียนข้อความ หรือว่า Editor ทันทีเลยครับ แล้วเมื่อเราเอาเมาส์ไปคลิกหนึ่งครั้งบนรูป จะเห็น ไอคอนรูปดินสอครับ เมื่อคลิกที่ไอคอนนี้ ก็จะสามารถแก้ไขรายละเอียดการจัดวางรูปภาพเบื้องต้นได้ครับ
ส่วนการลิงค์ไฟล์อื่นๆ ที่ไม่ใช่รูปภาพ มีขั้นตอนคล้ายกับการใส่รูปภาพครับ ต่างกันตรงที่ เราต้องกำหนด Title ขึ้นมาครับ เพราะประโยค หรือคำที่อยู่ใน Title นี้จะเอาไว้ใช้สำหรับ ลิงค์ไปยังไฟล์ของเราครับ
การใช้งาน Media Library
ให้เราไปที่ Admin Menu แล้วเลือก Media จากนั้นเลือก Library นะครับ ที่นี่ จะเป็นที่ๆ ไฟล์ของเราทั้งหมดมารวมกันอยู่ครับ เราสามารถค้นหา ไฟล์ของเราได้ที่นี่ครับ
รูปแบบการแสดงผล
Media Library จะแสดงลิสต์ของไฟล์ ได้สองแบบคือ แบบลิสต์ปกติ กับแบบตาราง หรือเราเรียกว่า Grid นะครับ
แบบลิสต์ปกติ
จะใช้งานเหมือน ลิสต์ของหน้าและลิสต์ของโพส ที่เราสามารถเลือกและลบไฟล์ได้ จากการติ๊กกล่องด้านหน้าครับ และ ยังเห็นรายละเอียดค่อนข้างครบถ้วน เมื่อเราคลิกที่ลิงค์ Title ของไฟล์ เราก็จะสามารถเข้าไปแก้ไขข้อมูลได้เลย
แบบตาราง (Grid)
จะใช้งานเหมือนโปรแกรมดูรูปภาพเลย เวลาเราคลิกไปที่รูปภาพ เราก็จะสามารถแก้ไขรายละเอียด เช่น Title, Caption และ Description ได้ครับ แต่เวลาที่เราจะลบไฟล์ เราก็ต้องคลิกก่อนหนึ่งครั้ง แล้วค่อยไปเลือก ลบถาวร หรือ Delete Permanently ครับ แต่แบบตารางเอง ก็มีวิธีลบทีละหลายไฟล์ เหมือนกันโดยการเลือกที่ Bulk Select แล้วก็เลือกไฟล์ที่จะลบได้เลย เมื่อเลือกเสร็จแล้ว เราก็สามารถกด Delete Selected ได้ครับ
การอัพโหลดไฟล์
สามารถทำได้ด้วยการกดปุ่ม Add New ครับ เราจะอัพโหลดทีละไฟล์ หรือหลายไฟล์ก็ได้ ลักษณะจะเหมือนกับการที่ เราอัพโหลดไฟล์ไปที่หน้า และบทความของเราเลยครับ เมื่อเราอัพโหลดรูปภาพ หรือไฟล์ ไปที่ Media Manager แล้ว เมื่อเราไปกด ใส่รูปภาพที่ หน้า หรือ บทความ ก็จะเห็นสิ่งที่เราอัพโหลดทุกอันครับ
สรุป
เป็นอันว่า เราได้เรียนรู้ ทุกกระบวนท่า เรื่อง การใส่รูปภาพ และ ไฟล์ลงไปใน WordPress แถมยังได้เรียนรู้วิธีจัดการกับไฟล์ต่างๆ บน WordPress ทุกรูปแบบแล้วนะครับ
กำหนดรูปประจำ กรณีโฟสนั้นไม่มีรูปแต่สามารถเรียกประจำมาแสดง ทำได้อย่างไรครับ
ต้องกำหนด featured image ลงไปครับ ไม่มีโพสในเนื้อหาไม่เป็นไรครับ